วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รู้จักคิด


  "  รู้จักการคิด  "

 

โดย   กรุณา   หมวดมณี

ช่อแก้ว  วงษ็ตั้นหิ้น

             

  กระบวนการ  ความคิด  พิสิษฐ์นัก            ใครรู้จัก  นำมาใช้  ให้ถูกต้อง
โยนิโส  มนสิการ  หมั่นตรองตรึก              ย่อมเรืองรอง  ด้วยปัญญา  เป็นอาจิณ

(สุนทรภู่)
            การคิดเป็นการแสดงออกของความเจริญของมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตทำให้เกิดวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นเนื่องจากมนุษย์รู้จักคิด และนำสิ่งที่คิดมาใช้ในการประดิษฐ์ดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า ทำให้โลกเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังคำกล่าวที่ว่า  เมื่อใดเราเปลี่ยนความคิดได้  เมื่อนั้นเราก็เปลี่ยนวิถีชีวิตได้
            พระพุทธเจ้าผู้เป็น ยอดครู  (บรมครู)  ทรงสอนวิธีคิดไว้หลายวิธี  เพื่อให้เหมาะแก่อุปนิสัย  และภูมิหลังของแต่ละบุคคล  ในพระไตรปิฎก  กล่าวไว้  10  วิธีคิดด้วยกัน  คือ
            1.  คิดสืบสาวเหตุปัจจัย   ในทีนี้ท่านพูดสองคำควบกันคือ  เหตุ  กับ  ปัจจัย   เหตุ  หมายถึงเหตุใหญ่  เหตุสำคัญ  ปัจจัยหมายถึง  เงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ท่านสอนให้


มองว่าปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น  มิใช่เกิดเพราะเหตุเพียงอย่างเดียว  จะเห็นว่าปัจจัยหรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย  เช่นถ้าถามว่า  ต้นไม้เจริญเติบโตเพราะอะไร  ถ้าตอบว่าเพราะเมล็ด  ก็ถูกเพียงส่วนเดียว  ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต  เช่น  ดิน  ปุ๋ย  น้ำ  อุณหภูมิ  การดูแล  ฯลฯ  ซึ่งทั้งหมดทางพระเรียกว่า เหตุปัจจัย    การคิดอะไรคิดให้รอบคอบ   ให้คิด  สาวหาเหตุปัจจัย  เห็นเหตุปัจจัยให้สาวหาผล  เห็นผลให้สาวหาเหตุปัจจัย  อย่างนี้เรียกว่า คิดเป็น
            2.  คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ  พระท่านมักจะสอนกันว่า  ความเข้าใจผิด  ความหลง  หรือความไม่รู้ตามเป็นจริง  มักจะเกิดเพราะ ภาพรวมที่เรามองเห็น  เพราะฉะนั้นถ้าอยากเข้าใจอะไรถ่องแท้ตามที่มันเป็นจริงๆ  จะต้องมองหรือคิดแบบแยกองค์ประกอบ  การคิดการมองแบบแยกแยะองค์ประกอบนี้  รวมไปถึงการแยกแยะคุณค่าด้วย
3.  คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดาหรือคิดแบบไตรลักษณ์  ท่านแบ่งเป็น  2  ขั้นตอน  คือ
                     1.  ขั้นแรกที่สำคัญที่สุด  ยอมรับความจริง 
                   2.  ขั้นที่สอง  แก้ไขไปตามเหตุปัจจัย
            4.   คิดแบบแก้ปัญหา  (คิดแบบอริยสัจ)  คือ  การจะแก้ปัญหาได้  จะต้องรู้สภาพปัญหา  รู้สาเหตุของปัญหา  รู้ว่าปัญหาต่างๆ นั้นหมดไปได้  และต้องลงมือทำหรือแก้ปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง
            5.  คิดแบบสัมพันธ์หลักการกับความมุ่งหมาย  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์  คือ  คิดอะไรก็ตาม  ถ้าคิดให้หลักการกับความมุ่งหมายสัมพันธ์สอดคล้องกัน  ความคิดนั้นจะนำไปสู่การกระทำที่ประสบผลสำเร็จ  ไม่เขวออกนอกทาง
            6.  คิดแบบคุณโทษและทางออก  เป็นวิธีคิดแก้ปัญหาได้ดีอย่างหนึ่งเพราะในกระบวนการคิดเช่นนี้  บุคคลจะได้ฝึกเป็นคนมองอะไรกว้างรอบด้าน  และเห็นทางออกอันเป็นแนวปฏิบัติชัดเจน
            7.  คิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม    วิธีคิดแบบนี้เกี่ยวข้องกับ ความต้องการ  และ การประเมินคุณค่า  ถ้าคิดเพียงแต่จะสนองตัณหาของตน  ไม่ว่ากับสิ่งใด  ก็เป็นการคิดด้วยคุณค่าเทียมแต่ถ้าคิดถึงแก่นหรือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น  ก็เรียกว่า คิดด้วยคุณค่าแท้  คนที่มีวิธีคิดแบบคุณค่าแท้มักจะเป็นคนใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ  มีความเข้าใจเหตุและผล  มองอะไรรอบคอบครบวงจร  สามารถเลือกและตัดสินใจได้ถูกต้อง
            8.  คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม   คำเดิมของท่านคือ  อุปปาทกมนสิการ  แปลตามตัวอักษรว่า คิดให้เกิดการกระทำ  นักวิชาการแปลว่า คิดสร้างสรรค์
             วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม  อาจเรียกง่ายๆ ว่าวิธีคิดแบบเร้ากุศล  หรือวิธีคิดแบบกุศลภาวนา  เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา  จึงจัดได้ว่า  เป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม  และเสริมสร้างสัมมาทิฐิที่เป็นโลกิยะ
            9.  คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน  เป็นการคิดในแนวทางของความรู้  ความคิดด้วยอำนาจปัญญา  การนำอดีตมาเป็นบทเรียนและวางแผนในอนาคต  ด้วยสติ  ด้วยความรอบคอบ  และคนที่อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ  เป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพ  และเป็นคนมีความสุข
            10.  คิดแบบแยกประเด็น  หรือ  วิภัชวิธี   คือ การรู้จักแยกประเด็น  แยกเรื่อง  ไม่ตีขลุมรวมๆ กันไป  ไม่ว่าจะเป็นการมองหรือตอบปัญหา  โดยใช้หลักธรรมสำคัญคือ อริยสัจ  กับ  อิทัปปัจจยตา  อริยสัจ  คือสอนวิธีแก้ปัญหา  อิทัปปัจจยตา  คือสอนให้รู้จักมองให้ตลอดสาย  สาวหาเหตุหาปัจจัย  
             การศึกษาทำให้ชีวิตพัฒนา  แต่ถ้าไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น  กระบวนการศึกษาก็จะไม่เกิด  การให้การศึกษาที่ถูกทาง  เริ่มต้นที่กระตุ้นให้คนรู้จักคิดให้ถูกตั้งแต่ยังเด็กๆ  ฉะนั้นบทบาทของ ครูหรือผู้ชี้แนะแนวทาง  ต้องมีหลายเทคนิค  หลายวิธีการสอน  ที่จะนำไปแนะให้ศิษย์แต่ละคนที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพ   ให้เป็นคนคิดดีและทำดี   ควบคู่ไปกับความรู้จริงและรู้แจ้ง   เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถุกต้อง

 

แหล่งอ้างอิง


เสฐียรพงษ์  วรรณปก  ราชบัณฑิต.  คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม.  กรุงเทพมหานคร  : 

มหาวิทยาลัยรามคำแหง,  2547.

13 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 กันยายน 2555 เวลา 11:11

    มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

    ตอบลบ
  2. คุณครูพัฒนานักเรียนเยี่ยมมากค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอชื่นชมโรงเรียนดำเนินการได้ดีมาก

    ตอบลบ
  4. อ่านแล้วคะ น่าสนใจมาก

    ตอบลบ
  5. อ่านเเล้วค่ะ สามารถนำไป เป็นแบบอย่างที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

    ตอบลบ
  6. ด.ช.วนัสนันท์ จันทวดี5 ตุลาคม 2555 เวลา 10:27

    สุดยอดครับมีความคิดที่ดีเพื่อผมได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน

    ตอบลบ
  7. เก่งจิงๆค่ะ

    ตอบลบ
  8. ความคิดดีมากเหมาะแกคำว่าโรงเรียนวัดอภยารามน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ตอบลบ
  9. ความคิดดี ปัญญาดี เสนอดี

    ตอบลบ
  10. เก่งมายยกนิ้วให้เลยค่ะ

    ตอบลบ
  11. เก่งนะเนี๊ยเพื่อนเรา

    ตอบลบ
  12. อภยารามเก่งจิง

    ตอบลบ

ข่าวการศึกษา